ความหมายไม้ตัดดอก

ไม้ตัดดอก หมายถึง ไม้ดอกที่ปลูกเพื่อตัดเฉพาะส่วนที่เป็นดอกหรือช่อดอกนำไปใช้ประโยชน์หรือจำหน่าย ลักษณะของไม้ตัดดอกที่ดี คือ มีก้านดอกที่ยาวและแข็งแรง ดอกมีสีสันและรูปทรงที่สวยงาม และดอกบานทนอยู่ได้หลายวัน

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2555

เยอบีร่า








ความสำคัญทางเศรษฐกิจ


เยอบีร่าเป็นไม้ตัดดอกที่ได้รับความนิยมสูงมากในตลาดโลกในปัจจุบัน เพราะมีสีดอกสดใส มีหลายสี อายุการใช้งานทน และมีรูปทรงดอกสวยงาม ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกเยอบีร่าประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งระยะหลังมีการนำเยอบีร่าสายพันธุ์ยุโรปเข้ามาปลูกทดแทนเยอบีร่าสายพันธุ์ไทย แต่ก็ยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศประมาณปีละ 25 ล้านบาท ซึ่งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี
แหล่งผลิตที่สำคัญ
ภาคเหนือ : พิจิตร พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย
ภาคกลาง : นนทบุรี สมุทรสาคร
ภาคใต้ : นครศรีธรรมราช ภูเก็ต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ขอนแก่น อุบลราชธานี
ลักษณะทั่วไป
เยอบีร่าเป็นไม้ดอกที่มีลักษณะต้นเป็นกอเตี้ย มีลำต้นใต้ดิน ใบมีสีเขียวเข้มปรกเป็นพุ่ม ขอบใบหยักเป็นแฉกไม่เท่ากัน และหุบเข้าหาเส้นกลางใบเล็กน้อย และมีขนบาง ๆ อยู่ตามใต้ใบและท้องใบ ส่วนดอกเยอบีร่าประกอบด้วยดอกย่อยเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากอัดแน่นอยู่บนฐานรองดอก ดอกย่อยมี 2 ประเภทคือ ดอกย่อยชั้นนนอก (Ray floret) และดอกย่อยชั้นใน (Disk floret) โดยดอกย่อยชั้นนอกเป็นดอกตัวเมีย เรียงอยู่รอบนอก ดอกย่อยชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีขนาดเล็กและสั้นจำนวนมากเรียงกันแน่นอยู่บริเวณใจกลางของช่อดอก
ประเภทของเยอบีร่า แยกตามสายพันธุ์แบ่งออกได้ 3 สายพันธุ์ ดังนี้
1. สายพันธุ์ไทย : ลักษณะดอกมีกลีบดอกซ้อนหนามากอย่างเป็นระเบียบ ดอกย่อยชั้นในจะอยู่แน่นตรงใจกลางดอก และความยาวลดหลั่นออกมาสัมพันธ์กับดอกย่อยชั้นนอก
2. สายพันธุ์อเมริกา : เป็นเยอบีร่าประเภทที่มีกลีบดอกชั้นเดียว กลีบดอกย่อยชั้นนอกเรียวยาวและค่อนข้างบาง
3. สายพันธุ์ยุโรป : มีลักษณะกลีบดอกหนา กลีบกว้าง ปลายกลีบมน มีกลีบซ้อน 2-3 ชั้น ก้านดอกตรงเป็นที่นิยมของตลาดปัจจุบัน
พันธุ์เยอบีร่าที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ไทย
ได้แก่
กลุ่มดอกสีเขาว : พันธุ์ขาวครีม ขาวจักรยาว ขาวจักรสั้น
กลุ่มดอกสีแดง : พันธุ์แดงลักแทง แดงตาเปิ่น แดงใหญ่ และหมื่นหาญ
กลุ่มดอกสีเหลือง : พันธุ์เหลืองถ่อ เหลืองพังสี สีดา และนวลละออ
กลุ่มดอกสีส้ม : พันธุ์สุรเสน สีอิฐ จำปา กุมารทอง และสร้อยฟ้า
กลุ่มดอกสีชมพู : พันธุ์ลูกรัก บัวหลวง และมณฑา
นอกจากนี้ได้มีการนำสายพันธุ์ยุโรปเข้ามาปลูกกันมากขึ้น เนื่องจากได้ราคาดี ซึ่งได้แก่
กลุ่มดอกสีแดงและแดงอมส้ม : Lea, Veronia, Tennessee, Ximena และ Clepatra
กลุ่มดอกสีชมพู : Beatrix, Estelle และ Claudia
กลุ่มดอกสีชมพูม่วง : Terra Parade, Royal, Nova และ Pamela
กลุ่มสีเหลือง : Teroformosa, Horizon, Easter star และ Terra sun
กลุ่มสีขาวครีม : Celphi, Terra Mint, Bahama และ Terra Nevelis
กลุ่มสีส้ม-เหลือง : Terra Mexico และ Clementine
กลุ่มสองสี (Bicolor) : Starlight และ Terra Mix
การขยายพันธุ์
1. การเพาะเมล็ด ส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้เพื่อหาพันธุ์ใหม่ ๆ โดยใช้วัสดุเพาะเมล็ด เช่น ขุยมะพร้าวกับทราย หรือทรายกับขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 ใส่ในตะกร้าพลาสติก ซึ่งรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เกลี่ยหน้าให้เรียบเสมอกัน ใช้ไม้ทำร่องตามขวางของตะกร้าห่างกันประมาณ 1 นิ้ว นำเมล็ดวางเรียงในร่องกลบด้วยวัสดุเพาะ แล้วรดน้ำให้ชุ่มประมาณ 3-5 วัน เมล็ดก็งอก เมื่อต้นกล้างอกแล้วมีใบจริง 2-3 ใบ ทำการย้ายลงถุงชำโดยใช้ดินผสมที่มีทรายผสมกับขุยมะพร้าวและปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1:1:1 เป็นวัสดุปลูก นำไปตั้งที่ร่มรำไร เมื่อต้นกล้าตั้งตัวแล้วจึงย้ายลงแปลงปลูก ซึ่งใช้เวลาในการให้ดอกประมาณ 4-4-5 เดือน
2. การแยกหน่อ เป็นวิธีที่ใช้กันมาก เพราะทำได้ง่ายและสะดวก การแยกหน่อเยอบีร่าควรทำเมื่อเยอบีร่ามีอายุประมาณ 7 เดือน ซึ่งทำได้ 2 วิธี
ก. การแยกหน่อโดยการขุดต้นเยอบีร่าขึ้นมาทั้งกอ ล้างดินออกให้หมดจึงแยกหน่อแต่ละหน่อควรมีรากติดอย่างน้อย 3 ราก ตัดราก และใบออกประมาณครึ่งหนึ่งเพื่อลดการคายน้ำ และนำหน่อที่แยกไปชำในถุงที่มีวัสดุเพาะชำ เช่น ทรายหรือขุยมะพร้าวหรืออาจลงแปลงเลย นำไปเก็บไว้ในที่ร่ม รดน้ำประมาณ 1 เดือน รากจะแตกใหม่ประมาณ 2 เดือน ก็สามารถให้ดอกได้
ข. การแยกหน่ออ่อนจากส่วนของลำต้น (เหง้า) ใช้กับต้นที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป โดยตัดใบให้หมดทั้งต้นและตัดให้เหลือแต่เหง้า ส่วนของเหง้าก็จะแตกต้นอ่อนขึ้นมา วิธีนี้ไม่ต้องขุดต้นออกจากแปลง เมื่อต้นอ่อนมีใบ 3-4 คู่ จึงแยกหน่ออ่อนมาชำต่อไป
3. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ วิธีนี้สามารถผลิตต้นพันธุ์ได้จำนวนมากในเวลาสั้นได้ต้นที่ปลอดโรคและตรงตามพันธุ์

4 ความคิดเห็น: